Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.

Get Adobe Flash player

 
|    

Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.

Get Adobe Flash player

[05-07-2019] พลังงานรอผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งผลวินิจฉัยกรณีให้ทบทวนแผน PDP ใหม่ ก่อนนัดหารือข้อเท็จจริง
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่มีกระแสข่าวเรื่องคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่เสนอแนะให้กระทรวงพลังงานพิจารณาทบทวนยุทธศาสตร์กระทรวงฯ และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) เพื่อกำหนดแนวทางให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 51% ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดนั้น ขณะนี้กระทรวงฯอยู่ระหว่างรอผู้ตรวจการแผ่นดินส่งคำวินิจฉัยดังกล่าวมายังกระทรวงฯอย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นเชื่อว่าจะมีการนัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อไป
"เบื้องต้นเห็นว่าตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุชัดเจนอย่างที่ผู้ตรวจการแผ่นดินบอก ก็คงต้องรอหนังสืออย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นคงจะมีการเรียกหน่วยงานต่าง ๆ ไปชี้แจงเพื่อหาข้อเท็จจริงต่อไป"แหล่งข่าว กล่าว
สำหรับกระแสข่าวการเปิดเผยคำวินิจฉัยดังกล่าว สืบเนื่องจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้รับหนังสือร้องเรียนจากผู้ร้อง 1 ราย ขอให้ตรวจสอบกรณีกระทรวงพลังงานกำหนดนโยบายและแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า โดยให้เอกชนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดลงต่ำกว่า 51% อันขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 56 วรรคสอง
หลังจากนั้นสำนักงานตรวจการแผ่นดิน ออกหนังสือเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ถึงผู้ร้องเรียน เพื่อแจ้งผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยระบุว่าอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 33 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560 เสนอแนะต่อกระทรวงพลังงานให้พิจารณาทบทวนยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน (พ.ศ.2559-2563) และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ส.2558-2579 (PDP2015) ซึ่งปรับแผนใหม่เป็นแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) เพื่อกำหนดแนวทางให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่ไม่น้อยกว่า 51% ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัย และดำเนินการให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 51% ภายในกำหนด 10 ปีนับจากปีพ.ศ.2562
ขณะที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 56 กำหนดไว้ว่ารัฐต้องจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทำด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่า 51% มิได้
ก่อนหน้านี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจผู้ผลิตไฟฟ้าของประเทศ ระบุว่าปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าของกฟผ.คิดเป็นสัดส่วนราว 35% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ และในช่วง 10 ปีข้างหน้ากำลังผลิตใหม่ที่ กฟผ.ได้รับมอบหมายเป็นผู้ดำเนินการตามแผน PDP2018 จะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามแผน 5,400 เมกะวัตต์ ก็จะทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของกฟผ.ยังคงอยู่ในระดับ 31% ขณะเดียวกันแผน PDP จะมีการทบทวนทุก ๆ 5 ปีซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตามจากกระแสข่าวดังกล่าวที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ ทำให้หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าอย่างบมจ.บมจ.บีซีพีจี (BCPG) ,บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ,บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ปรับตัวลงแรง
ขณะที่เช้านี้ราคาหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้ายังคงปรับตัวลงต่อเนื่อง โดยหุ้น GULF อยู่ที่ 125 บาท ลดลง 0.50 บาท หรือ 0.40% ,หุ้น GPSC อยู่ที่ 69 บาท ลดลง 0.25 บาท หรือ 0.36% และหุ้น BCPG อยู่ที่ 18.70 บาท ลดลง 0.50 บาท หรือ 2.60%
 
 เว็บ ryt9.com






 

หน้าแรก | เกี่ยวกับเรา | ใบประกอบการ | การเข้าตลาดหลักทรัพย์ | แผนธุรกิจ | ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ | ข้อมูลลงทุน | ติดต่อเรา | สำหรับพนักงาน   
Copyright 2010 c-amc.com All Right Reserved. Website by GM