Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.

Get Adobe Flash player

 
|    

Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.

Get Adobe Flash player

เล่นกับหุ้น IPO (Initial Public Offering)

ในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นกระทิง  นอกจากหุ้นในตลาดจำนวนมากจะมีราคาปรับตัวขึ้นไปอย่างหวือหวาและปริมาณการซื้อขายหุ้นที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายแล้ว  ยังมีหุ้นเข้าจดทะเบียนใหม่ที่เรียกว่าหุ้น IPO (Initial Public Offering) เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  หุ้น IPO เหล่านั้น  หลาย ๆ  ตัว  ในวันแรกหรือช่วงแรก ๆ  ที่เข้าซื้อขายในตลาดหุ้น มีราคาปรับขึ้นจากราคาขายหุ้นครั้งแรกสูงมากพร้อม ๆ  กับปริมาณการซื้อขายที่มโหฬาร  หุ้น IPO นั้น น่าสนใจหรือไม่สำหรับ Value Investor  เรามาดูกัน

ข้อแรก  มองในแง่แรงจูงใจของเจ้าของบริษัทที่นำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์  สิ่งที่เจ้าของต้องการนั้น  นอกจากการระดมเงินเพื่อขยายธุรกิจและการที่ต้องการลดความเสี่ยงโดยการขายกิจการบางส่วนออกไปเพื่อเอาเงินไปใช้หรือลงทุนอย่างอื่นแล้ว  เขาก็ต้องการเพิ่มความมั่งคั่งให้กับตนเอง  และการที่จะเพิ่มความมั่งคั่งได้ก็คือ  ต้องการขายหุ้นให้ได้ราคาสูงสุดที่คนจะยอมซื้อได้  การที่จะทำอย่างนั้นได้  เขาก็ต้องทำให้บริษัท “ดู” น่าสนใจและมีอนาคตสดใสมากที่สุด  วิธีการทำก็คือ  ทำให้เห็นว่าบริษัทมีกำไรดีและ “จะ” เติบโตไปได้อีกมาก  เพราะนั่นคือสิ่งที่นักลงทุนต้องการจากการซื้อหุ้น  นักลงทุนยินดีที่จะจ่ายเงินสูงเพื่อซื้อ “ผลประกอบการ” และ Growth หรือ “การเจริญเติบโต” ของบริษัท

ประเด็นก็คือ  การทำให้บริษัทมีกำไรดีนั้น   เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยากนักโดยเฉพาะถ้าจะทำเพียง 1-2 ปีก่อนเข้าตลาดหุ้น  ระบบบัญชีโดยเฉพาะในเมืองไทยนั้นผมเชื่อว่าสามารถ “เนรมิต” เรื่องนี้ได้   ส่วนในเรื่องของ Growth หรือการเจริญเติบโตของกำไรของบริษัทนั้น  ผมก็คิดว่าถ้าจะทำให้เกิดขึ้นหรือทำให้น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นภายในระยะ 1-2 ปี ก็น่าจะทำได้ง่ายไม่แพ้กันโดยเฉพาะในยามที่คนเล่นหุ้นพร้อมและอยากจะเชื่ออยู่แล้วในยามที่ตลาดหุ้นกำลังบูม  ดังนั้น  จึงมีความเป็นไปได้ว่าหุ้น IPO จะถูกกำหนดราคาขายที่สูงกว่าพื้นฐานที่แท้จริงในยามที่จองหุ้น  และเมื่อหุ้นเข้าตลาดแล้วราคาก็อาจจะแพงขึ้นไปอีกทวีคูณเนื่องจากผลของการวางแผนหรือ  “แต่งตัว”  ให้บริษัท “ดู” มีกำไรดีและมี “อนาคต”  ที่ดียิ่งขึ้นไปอีก

ประเด็นที่สอง  ในกรณีที่ไม่ได้มีการ “แต่งตัว”  มากมายจนผิดเพี้ยนไปจากตัวตนที่แท้จริงของบริษัท  สิ่งที่ผมก็ยังกังวลเกี่ยวกับหุ้น IPO ก็คือ  Track Record หรือผลประกอบการของบริษัทที่ผ่านมา  จริงอยู่  หลายบริษัทนั้นเป็นบริษัทที่ก่อตั้งมายาวนาน  แต่ส่วนมากแล้ว  ผลประกอบการที่ดีของบริษัทมักจะปรากฏสั้นมากอย่างมากเพียง 2-3 ปีก่อนเข้าตลาดหุ้น  ดังนั้น  ความสม่ำเสมอของผลประกอบการจึงไม่มีและทำให้ผมไม่แน่ใจว่าบริษัทมีความแข็งแกร่งจริงหรือไม่

ข้อสาม  หุ้นเข้าใหม่จำนวนมากมักเป็นหุ้นที่ผลิตและ/หรือขายสินค้าที่เป็นหรือมีคุณสมบัติแบบ Commodity หรือสินค้าโภคภัณฑ์  ซึ่งเป็นธุรกิจที่หาความแน่นอนของผลประกอบการยากแต่มักมี  “จังหวะหรือโอกาสทอง”  ในช่วงสั้น ๆ  ที่วงจรธุรกิจกำลังเป็นขาขึ้น  ดังนั้น  หุ้นเหล่านี้จึงมักฉวยโอกาสเข้าจดทะเบียนขายหุ้นในยามที่ตลาดเอื้ออำนวย  ซึ่งจะทำให้สามารถขายหุ้นได้ราคาและราคาหุ้นสูงขึ้นไปอีกอย่างน้อยในระยะหนึ่งหลังการเข้าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

ข้อสี่  หุ้น IPO ส่วนใหญ่นั้นมีขนาดค่อนข้างเล็กและจำนวนหุ้นที่เริ่มเข้ามาซื้อขายหมุนเวียนในตลาดในวันแรกก็มีน้อยมาก  บางบริษัทอาจจะมีเพียง 200-300 ล้านบาท  หรือในกรณีของบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาด MAI นั้นอาจจะมีเพียง 100-200 ล้านบาท  เมื่อเปรียบเทียบกับพอร์ตหรือเม็ดเงินลงทุนของนักเล่นหุ้นโดยเฉพาะที่เป็น  “ขาใหญ่” ในตลาดหุ้นที่ว่ากันว่ามีพอร์ตเป็นพัน ๆ  ล้านบาทนั้น  ก็ถือว่าหุ้น IPO นั้นสามารถที่จะถูก  “ปั่น”  ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด  นั่นก็คือ  ถ้ามีรายใหญ่ดังกล่าวแม้เพียงรายเดียวต้องการ  เขาอาจจะสามารถซื้อหุ้นทั้งหมดที่หมุนเวียนอยู่ในตลาด  ซึ่งจะทำให้เขาสามารถ  “กำหนด”  ราคาหุ้นได้ว่าจะให้หุ้นมีราคาซื้อขายในวันที่เข้าตลาดที่ราคากี่บาทต่อหุ้น  ดังนั้น  “พื้นฐาน”ของบริษัท  จึงแทบจะไม่มีความหมายหรือความสัมพันธ์กับราคาหุ้น

จากประเด็นต่าง ๆ  ที่กล่าวข้างต้น  สำหรับผมแล้ว  หุ้น IPO นั้น  มักเป็นหุ้นที่ผมจะหลีกเลี่ยงโดยเฉพาะถ้าจะถือเพื่อเป็นการลงทุนระยะยาว  ราคาขายหุ้นจองนั้น  ถ้าไม่ใช่หุ้นรัฐวิสาหกิจผมเชื่อว่าน้อยครั้งที่จะถูกกว่าพื้นฐานตามที่ที่ปรึกษาและผู้รับประกันการจำหน่ายหุ้นอ้าง  ผมเชื่อตามคำพูดส่อเสียดที่ว่า  IPO แปลว่า  It Probably Overpriced หรือ  “มันน่าจะมีราคาสูงเกินไป”    อย่างไรก็ตาม  สำหรับหุ้น IPO บางตัวก็อาจจะไม่เป็นอย่างนั้น  การที่จะดูว่า  IPO ตัวไหนอาจจะเป็นข้อยกเว้นนั้น  คงต้องดูในแต่ละประเด็นที่ผมพูดถึง  ถ้าดูแล้ว  มี  “อาการ”  หลาย ๆ  อย่างที่เข้าข่ายน่าสงสัยว่าจะเป็น  “มะนาว”  นั่นคือ  เป็นหุ้นที่ซื้อแล้วมีโอกาสขาดทุนเพราะเป็นหุ้นที่มีการแต่งตัวมาขายอย่างน่าเกลียดเราก็ควรจะหลีกเลี่ยง  ที่ยิ่งต้องระวังมากกว่านั้นก็คือ  อย่าเข้าไปเล่นหลังจากที่ราคาหุ้นสูงขึ้นไปมากจากราคา IPO หลังจากที่หุ้นเข้าซื้อขายในตลาดแล้ว

ทั้งหมดที่พูดนั้นก็คือเป็นกรณี  “โดยทั่วไป”  แต่ในยามที่ตลาดหุ้นเป็นกระทิงเปลี่ยวแล้วเราคิดว่าคนกำลัง  “เล่น” หุ้น IPO อยู่  และเราเชื่อว่า  “ตลาดยังไม่วาย”  การจองซื้อหุ้น IPO  ก็อาจจะมีโอกาสทำกำไรได้ดี  ผมเองก็จองถ้าได้รับ “จัดสรร” มา  อย่างไรก็ตาม  ผมคงไม่เข้าไปซื้อในวันแรกที่หุ้นเข้าซื้อขายแน่นอนและคงไม่ซื้อในราคาสูงกว่าราคาจอง  ตรงกันข้าม  มีโอกาสที่ผมจะขายค่อนข้างเร็ว  บางทีอาจจะเป็นวันแรกที่หุ้นเข้าตลาด  ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  สิ่งที่ผมคำนึงถึงเสมอก็คือ  การซื้อหุ้น IPO เป็นเรื่องของการ “เก็งกำไร”  ล้วน ๆ 







 

หน้าแรก | เกี่ยวกับเรา | ใบประกอบการ | การเข้าตลาดหลักทรัพย์ | แผนธุรกิจ | ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ | ข้อมูลลงทุน | ติดต่อเรา | สำหรับพนักงาน   
Copyright 2010 c-amc.com All Right Reserved. Website by GM

Warning: Unknown: Your script possibly relies on a session side-effect which existed until PHP 4.2.3. Please be advised that the session extension does not consider global variables as a source of data, unless register_globals is enabled. You can disable this functionality and this warning by setting session.bug_compat_42 or session.bug_compat_warn to off, respectively in Unknown on line 0